วันจันทร์ที่ 13 กุมภาพันธ์ พ.ศ. 2555

โครงการระบายน้ำถนนเลียบบางพลี-ลาดกระบัง ถนนร่มเกล้า



"... การจัดการควบคุมระดับน้ำในคลองสายต่าง ๆ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง การจัดระบบระบายน้ำ
ในกรุงเทพมหานครนั้น สมควรวางระบบให้ถูกต้องตามสภาพการณ์และลักษณะภูมิประเทศ
ซึ่งควรแบ่งออกเป็น ๒ แผนด้วยกันคือ แผนสำหรับใช้กับในฤดูฝนหรือในฤดูน้ำมากนี้
ก็เพื่อประโยชน์ในการป้องกันน้ำ ท่วมและเพื่อบรรเทาอุทกภัยเป็นสำคัญ แต่แผนการระบายน้ำในฤดูแล้งนั้น
ก็ต้องจัดอีกแบบหนึ่งต่างกันออกไป เพื่อการกำจัดหรือไล่น้ำเน่าเสียออกจากคลองดังกล่าวเป็นหลัก..."

พระราชดำรัส ๔ ธันวาคม ๒๕๓๘


จากสภาวะ น้ำท่วมอย่างรุนแรงในพื้นที่กรุงเทพฯ เมื่อ พ.ศ. ๒๕๒๓ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หังทรงห่วงใยในความเดือดร้อนที่เกิดกับชีวิตและ ทรัพย์สินของประชาชนในกรุงเทพฯ ได้พระราชดำริการแก้ไขปัญหาน้ำท่วมไว้ทั้งในระยะสั้นและระยะยาว ในระยะสั้นนั้น ให้เร่งดำเนินการเร่งระบายน้ำออกสู่ทะเลโดยใช้ประโยชน์จากคลองที่อยู่ฟาก ฝั่งตะวันออกของกรุงเทพฯให้เป็นทางระบายน้ำ ส่วนในระยะยาว ให้ดำเนินการดังนี้
- จัดให้มีพื้นที่สีเขียวรอบ ๆ พื้นที่กรุงเทพฯ ให้สามารถแปรสภาพเป็นทางระบายน้ำและเป็นพื้นที่สำหรับเป็นทางไหลผ่านของน้ำ ที่ท่วมหลากเพื่อออกสู่แม่น้ำได้สะดวกมากขึ้น
- สร้างสถานีเก็บกักน้ำตามจุดต่าง ๆ เช่น ตามบึงขนาดใหญ่
- สร้างทำนบป้องกันน้ำจากด้านตะวันออก ไม่ให้ไหลเข้ากรุงเทพฯตลอดจน ขุดคลองหลักต่าง ๆ ในพื้นที่ด้านตะวันออก เพื่อให้เป็นทางน้ำไหลลงสู่อ่าวไทย
- ขุดลอกทางน้ำที่มีอยู่เดิม อาทิ คลองแสนแสบ คลองผดุงกรุงเกษม คลองกระจะ และคลองอื่น ๆ ที่เชื่อมต่อกับคลองแสนแสบ

ต่อมาใน พ.ศ. ๒๕๒๖ ได้เกิดน้ำท่วมหนักในกรุงเทพฯ อีกครั้ง ด้วยพระราชหฤทัยที่ทรงห่วงใยพสกนิกรของพระองค์ พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวได้เสด็จ ฯ ตรวจพื้นที่น้ำท่วมและทรงแก้ไขปัญหาน้ำท่วมในพื้นที่ด้วยพระองค์เองถึง ๖ ครั้งด้วยกัน
๘ ตุลาคม เสด็จ ฯ โดยเฮลิคอปเตอร์ ทอดพระเนตรน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย ลาดพร้าว บางกะปิ พระโขนงและสำโรง
๑๙ ตุลาคม เสด็จ ฯ โดยเรือยนต์ของกองพันทหารช่างที่ ๑ รักษาพระองค์ไปตามคลองแสนแสบ เพื่อตรวจการก่อสร้างทำนบคลองแสนแสบตามพระราชดำริ
๒๗ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่งทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณซอยศูนย์วิจัย
๑๔ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพนั้าท่วมบริเวณเขตพระโขนงและแขวงบางนา
๒๔ พฤศจิกายน เสด็จฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณคลองพระยาราชมนตรีและทรง พระดำเนินลุยน้ำผ่านทุ่งนาไปยังประตูระบายน้ำคลองพระยาราชมนตรี เป็นระยะทางประมาณ ๑ กิโลเมตร
๒๗ พฤศจิกายน เสด็จ ฯ โดยรถยนต์พระที่นั่ง ทอดพระเนตรสภาพน้ำท่วมบริเวณคลองลาดกระบังและคลองหนอง บอนผ่านตามแนวถนนบางพล
กรมทางหลวงได้น้อมรับพระราชดำริ ด้วยการจัดเร่งระบายน้ำบนพื้นที่ด้านตะวันออกของกรุงเทพฯ ให้ไหลลงสู่ทะเลอ่าวไทยโดยเร็วที่สุด เพื่อมิให้น้ำสะสมจนท่วมขังก่อความเดือนร้อนต่อประชาชน โดยให้สำนักทางหลวง แขวงการทาง ดูแลขุดลอกคลองตามธรรมชาติที่ไหลผ่านทางหลวงให้อยู่ในสภาพพร้อมที่จะรองรับ ปริมาณน้ำให้ไหลผ่านได้อย่างรวดเร็ว พร้อมทั้งได้ประสานงานร่วมมือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง เช่น กรุงเทพมหานคร กรมชลประทาน กรมเจ้าท่า ในการดำเนินงานขุดลอกคูคลอง การปรับปรุงประตูระบายน้ำ เครื่องสูบน้ำและขยายช่องทางน้ำที่ตีบตันแคบลง เพื่อให้การระบายน้ำมีประสิทธ์ภาพสามารถเร่งระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทยได้อย่าง รวดเร็ว เนื่องจากกรุงเทพฯ และปริมณฑลเป็นพื้นที่รองรับน้ำที่ไหลบ่ามาจากทางด้านเหนือระบายลงสู่ทะเล อ่าวไทยโดยแม่น้ำสายหลัก คือ แม่น้ำเจ้าพระยาและแม่น้ำท่าจีนด้านทิศตะวันตก ในส่วนของด้านตะวันออกเป็นพื้นที่ลุ่ม มีคลองและแม่น้ำเส้นเล็กๆ เช่น แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกง เป็นเส้นทางระบายน้ำแต่ความสามารถในการระบายน้ำมีข้อจำกัด ทำให้มักเกิดปัญหาน้ำท่วมขังในพื้นที่ส่วนนี้ ต่อเนื่องลึกเข้าไปสู่พื้นที่ชั้นกลางและชั้นในของกรุงเทพฯ

สาเหตุของน้ำท่วมในพื้นที่ด้านตะวันออกเพราะเป็นพื้นที่ลุ่ม อีกทั้งยังรองรับน้ำจากส่วนต่าง ๆ กัน ดังนี้
๑. น้ำจากด้านเหนือ ไหลบ่ามาจากเขื่อนเจ้าพระยา ที่จังหวัดชัยนาท และเขื่อนป่าสักชลสิทธิ์ที่จังหวัดลพบุรี ไหลข้ามพื้นที่ด้านตะวันออกลงสู่ทะเลทางด้านใต้ ซึ่งต้องใช้เวลาเดินทางของน้ำค่อนข้างมาก เนื่องจากพื้นที่มีความลาดชันต่ำ ทำให้น้ำไหลได้ช้า จนเกิดการสะสมของปริมาณน้ำจำนวนมากในพื้นที่ กลายเป็นปัญหาน้ำท่วมขัง ปัจจุบัน กรมทางหลวงได้ขุดลอกท่อและโครงสร้างทางระบายน้ำตามรอยพระหัตถ์เพื่อแก้ไข ปัญหาดังกล่าว ซึ่งช่วยให้การระบายน้ำมีประสิทธิภาพมากขึ้น โดยกำหนดให้น้ำเหนือที่ไหลจากด้านเหนือไหลเข้าสู่คลองระพีพัฒน์ แยกใต้บริเวณอำเภอหนองแค จังหวัดสระบุรี ไหลลงสู่คลอง ๑๓ และ ๑๔ ซึ่งจะมีปริมาณน้ำส่วนหนึ่งไหลไปตามคลองรังสิตมาตามคลอง ๑๓ ผ่านพื้นที่เขตหนองจอกลงสู่คลองแสนแสบ แล้วเบี่ยงไปทางด้านตะวันออกลงสู่คลองนครเนืองเขตไหลลงแม่น้ำบางปะกงลงสู่ ทะเลต่อไป สำหรับคลองที่มีการขุดลอกและปรับปรุงประตูระบายน้ำเพื่อรองรับเส้นทางระบาย น้ำตามลายพระหัตถ์ ได้แก่ ปากคลอง ๓๓ ปากคลองลาดผักขวง ปากคลอง ๑ อ และท้ายคลอง ๑ อ การเสริมคันคลองลาดผักขวงและคลอง ๑ อ (บางส่วน) การปรับปรุงประตูน้ำพระธรรมราชา และการก่อสร้างประตูระบายน้ำกลางคลองรังสิตประยูรศักดิ์ การดำเนินงานดังกล่าวจะช่วยให้ปริมาณน้ำจากด้านเหนือไม่ต้องไหลผ่านพื้นที่ ลุ่มด้านตะวนออกของกรุงเทพฯ ทั้งหมด โดยน้ำส่วนใหญ่จะเร่งระบายลงสู่แม่น้ำนครนายก แม่น้ำบางปะกงและแม่น้ำปราจีน เพื่อระบายลงสู่ทะเลอ่าวไทย
๒. ปริมาณน้ำฝนและน้ำใช้น้ำทิ้งของอาคารบ้านเรือน โรงงานของประชาชนจำนวนมากในพื้นที่รับน้ำ (Catchment Area) ด้านตะวันออก เป็นสาเหตุหนึ่งที่ก่อให้เกิดน้ำท่วมขัง เนื่องจากมีการก่อสร้างอาคารโครงสร้างต่าง ๆ โดยเฉพาะการถมดินก่อสร้างสนามบินสุวรรณภูมิ (หนองงูเห่า) ทำให้กีดขวางการไหลของน้ำและสูญเสียพื้นที่รองรับน้ำกว่า ๒๐,๐๐๐ ไร่ ที่เคยใช้เป็นพื้นที่กักเก็บน้ำทางด้านฝั่งตะวันออก ก่อนที่จะค่อยๆ ระบายไหลไปตามคูคลองซึ่งมีขนาดเล็ก ความสามารถในการเร่งระบายมีจำกัด เช่น คลองลาดกระบัง คลองบางโฉลง คลองจระเข้ใหญ่ และคลองเสาธง ก่อนจะไหลสู่คลองสำโรง คลองชายทะเล ลงสู่อ่าวไทย และเนื่องจากความลาดชันของท้องคลองมีน้อย น้ำที่ไหลด้วย Gravity Flow จึงต้องใช้เวลานานในการไหลระบายลงสู่ทะเลด้านใต้ ทำให้น้ำเอ่อล้นท่วมพื้นที่ ๒ ข้างคลอง ซึ่งเดิมมีโครงการพระราชดำริป้องกันไม่ให้น้ำท่วมขังทางด้านตะวันออกนี้ ไหลเข้าท่วมพื้นที่ตัวเมืองสมุทรปราการและพื้นที่กรุงเทพฯ ชั้นกลาง ได้แก่ เขตดอนเมือง บางเขน บึงกุ่ม ลาดพร้าว บางกะปิ สวนหลวง ประเวศ พระโขนง และพื้นที่ใน เช่น คลองเตย ราชเทวี ปทุมวัน สาทร ป้อมปราบ พญาไท
กรมทางหลวงจึงทำการก่อสร้างคันกั้นน้ำ ตั้งแต่ถนนสุขุมวิท (ทางหลวงหมายเลข ๓) เลียบทางหลวงสายบางพลี-ลาดกระบัง สาย ๓๑๑๙ ร่มเกล้า ถนนนิมิตรใหม่ ถนนหทัยราษฎร์ และถนนสุขาภิบาล ๕ (สายไหม) สิ้นสุดบริเวณจุดบรรจบคลองสองสายใต้กับคลองหกวา ในส่วนของกรมชลประทาน ได้มีการศึกษาแนวทางเร่งการระบายน้ำ โดยการขุดอุโมงค์จากบริเวณชายทะเลอ่าวไทยลอดไปออกคลองสำโรง เพื่อดึงน้ำจากพื้นที่ตะวันออกให้ไหลลงสู่ทะเลด้านใต้ได้เร็วขึ้น
๓. การขึ้น-ลงของน้ำทะเลอ่าวไทย ทำให้น้ำทะเลหนุนไหลบ่าเข้าท่วมพื้นที่ด้านล่างบริเวณไกล้ทะเลขณะน้ำขึ้น และน้ำจากพื้นที่ด้านบนไม่สามารถระบายไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวก เกิดน้ำท่วมขังในด้านทิศตะวันออก กรมทางหลวงจึงได้ดำเนินการตามโครงการพระราชดำริแก้มลิง โดยใช้แนวถนนสุขุมวิทเป็นคันกั้นน้ำทะเลที่หนุนท่วมขึ้นมาบนชายฝั่งทะเล และใช้พื้นที่ด้านในของถนนสุขุมวิทเป็นพื้นที่พักน้ำที่ไหลมาจากตอนบน พร้อมทั้งประสานกับกรมชลประทานและกรมโยธาธิการดำเนินการก่อสร้างสถานีสูบน้ำ ตามคลองต่าง ๆ เลียบถนนสุขุมวิทตามแนวคลองชายทะเล โดยมีประสิทธิภาพในการสูบน้ำ ดังนี้
๓.๑ คลองตำหรุ ๒๔ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๒ คลองบางปลาร้า ๔๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๓ คลองบางปลา ๔๒ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๔ คลองเจริญราษฎร์ ๗๕ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๕ คลองด่าน ๒ ๒๔ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
๓.๖ คลองชลหารพิจิตร ๖๐ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที
จาก การดำเนินการในครั้งนี้ สามารถรวมปริมาณน้ำที่สามารถสูบออกทะเล ๒๖๗ ลูกบาศก์เมตรต่อวินาที ทำให้น้ำตามคลองต่าง ๆ ของพื้นที่ด้านบนสามารถไหลลงสู่ด้านล่างได้สะดวกรวดเร็วขึ้น เป็นการสนองพระราชดำริของพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ที่มีพระประสงค์จะให้พสกนิกรกรุงเทพฯ และปริมณฑล รอดพ้นจากภัยน้ำท่วม
 

ไม่มีความคิดเห็น:

แสดงความคิดเห็น